ประวัติ ของ ตำบลบ้านสวน (อำเภอเมืองสุโขทัย)

มีหลักฐานว่า คำว่า บ้านสวน ซึ่งหมายถึงชื่อของหมู่บ้าน ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุเป็นครั้งแรกในสมุดไทยดำชื่อจดหมายเหตุรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1147 ชื่อสำเนาบัญชีเรื่องบัญชีจ่ายข้าวฉางหลวงให้แก่โรงสีส่งกองทัพครั้งรบพม่า ปีมะเส็งสัปตศก ปีมะเมียอัฐศก เลขที่ 1 พ.ศ. 2328 มีเนื้อความว่า มีชุมชนในความปกครองของเมืองสุโขทัยส่งข้าวสารให้กองทัพไทยเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพพม่าจำนวน 3 หมู่บ้าน ๆ ละ 2 ทะนาน คือ บ้านธานี บ้านกล้วย บ้านสวน ในปีมะเส็งสัปตศกกับปีมะเมียอัฐศกตรงกับ พ.ศ. 2328 และ พ.ศ. 2329 แสดงว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (20 มีนาคม พ.ศ. 2279 — 7 กันยายน พ.ศ. 2352) ทรงก่อตั้งพระราชวงศ์จักรีและยกฐานะบางกอกให้เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 –5 ปีก็มีชื่อ บ้านสวน แล้วแสดงว่า บ้านสวนมีความเก่าแก่มายาวนานเกือบ 230 ปี ต้นฉบับเอกสารจดหมายเหตุเป็นเอกสารตัวเขียนในสมุดไทยรักษาไว้ ณ งานบริการภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร[1]

คำว่า บ้านสวน น่าจะมีที่มาจากคำว่า ข้าวนาสวนหรือนาดำ ดังหลักฐานต่อไปนี้

  1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ข้อมูลคำว่า นาสวน เป็นคำนามเรียกข้าวเปลือกที่มีเมล็ดแข็งเป็นมันว่า ข้าวนาสวน [2]
  2. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (20 มีนาคม พ.ศ. 2279 — 7 กันยายน พ.ศ. 2352) ทรงออกกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2335 ห้ามมิให้ผู้ใดกักตุนข้าว “อย่าให้ขายข้าวแก่กันขึ้นเอาราคามาก แลให้ราษฎรซื้อขายกันข้าวนาทุ่งคงเกวียนละสองตำลึง ข้าวนาสวนคงเกวียนละสิบบาท จะเอาตัวเป็นโทษถึงตาย ส่วนผู้รู้เห็นเป็นใจชักนำซื้อขายได้ส่วนแบ่งนั้นจะเอาตัวเป็นโทษเฆี่ยนคนละสามยก ตระเวนบกสามวัน ตระเวนเรือสามวัน ส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง” [3]

มีข้อมูลถูกบันทึกไว้ว่า บ้านสวนเป็นตำบลที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่มีทั้งนาข้าว ส่วนผลไม้ ตลอดจนปลาในห้วย หนอง คลอง บึง ข้าวสารของตำบลบ้านสวนเป็นข้าวที่มีคุณภาพ หุงขึ้นหม้อและอ่อนนุ่มไม่แข็งกระด้าง คนในเมืองชอบกินข้าวสารบ้านสวน (ปัจจุบันก็ยังมีคุณภาพอยู่) และคนบ้านสวนในสมัยนั้น ก็จะนำมาขายถึงในตัวเมือง โดยนำข้าวใส่กระบุงหาบโดยเดินเท้าจากบ้านสวนถึงในตลาด ทุก ๆ วันชาวบ้านสวนจะหาบข้าวมาขายในเมืองอยู่เสมอ [4]

นอกจากนี้บ้านสวนยังเป็นยังคงรักษาอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้าน "มังคละ"นับแต่ครั้งกรุงสุโขทัย มาจนกระทั่งปัจจุบัน [5] ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บันทึกไว้ว่า "ท้าวหัวราน คำบง คำกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เลื่อนขับ" มีผู้ให้คำอธิบายและตีความว่า คำบง คำกลอง เป็นคำโบราณที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแปลว่า การประโคม ดังนั้นคำว่า คำบง คำกลอง จึงหมายถึงการตีกลองหรือประโคมกลองที่ขึงด้วยหนัง ซึ่งหมายถึงกลองมังคละ [6]และยังคงปรากฏมีที่บ้านสวนที่ชาวบ้านสวนจะเรียกว่า "ปีกลอง" [7] และบางพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลกตามที่ไมเคิล ไรท์ เคยมาเก็บข้อมูลและบันทึกไว้ [8][9]

พ.ศ. 2539 สภาตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ได้ถูกยกเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสวน (ลำดับที่ ) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2539 ลงนามโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (หน้า 48 เล่ม 113 ตอนที่ 9 ง ราชกิจจานุเบกษา 30 มกราคม 2539) มีผลให้เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสวน ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2539

พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสวน มีพื้นที่ 101 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 13 หมู่บ้าน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตำบลบ้านสวน (อำเภอเมืองสุโขทัย) http://www.bansuanpolice.com/ http://www.tambol.com/tambol/search.asp?key_search... http://www.thaitambon.com/tambon/ttambon.asp?ID=64... http://www.khothai.net http://gps.mcu.ac.th/wp-content/uploads/2020/03/%E... http://www.info.ru.ac.th/province/sukhotai/wmank.h... http://bansuansao.go.th/indexx.php http://www.bsm.go.th/webpage/mun01.htm http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/...